HOTSPOT
รชค. ลงพื้นที่ ณ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
รชค. ลงพื้นที่ ณ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2568 ดร. มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ ณ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2568 ดร. มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ ณ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
โดยมี เรือโท ยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง นางสิริมา กีรตยาคม รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง นายวีรชาติ พุทธรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมด้วย ผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบัง และ ผู้รับจ้างก่อสร้าง ร่วมให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ความคืบหน้าของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 งานก่อสร้างงานทางทะเล (ส่วนที่ 1)
โดยกิจการร่วมค้า CNNC เป็นผู้รับจ้าง ช่วงเดือนเมษายน 2568 ที่ผ่านมามีความคืบหน้ามากถึง 67.48% ซึ่งเป็นผลจากการติดตาม เร่งรัด และความร่วมมือในการเร่งดำเนินการก่อสร้างจากหลายภาคส่วน โดยงานก่อสร้างในส่วนนี้จะเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด และเตรียมส่งมอบพื้นที่ท่าเทียบเรือชายฝั่ง F1 ให้แก่ บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) ภายในปลายเดือนพฤศจิกายน 2568
งานก่อสร้างส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค โดยบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ได้เริ่มงานก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2567 ปัจจุบันความก้าวหน้าอยู่ที่ 0.47% โดยได้เริ่มก่อสร้างในส่วนของงานสะพานยกระดับ สถานีไฟฟ้า และจะเร่งเดินหน้างานก่อสร้างในส่วนอื่นๆ ให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด
งานก่อสร้างที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และงานก่อสร้างส่วนที่ 4 งานจัดหาและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ขนย้ายสินค้า อยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) และว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้เร็ว ๆ นี้
สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้รับฟังปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานก่อสร้าง เพื่อผลักดันในทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา รวมทั้ง เร่งรัดการก่อสร้าง ให้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ และได้มีการเสนอแนะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกัน เพื่อนำ ข้อมูลดังกล่าวมาสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาให้ครบทุกภาคส่วน
ด้วยโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่ายังคงเร่งรัดให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้โครงการนี้เดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเป็นประตูเศรษฐกิจแห่งใหม่ของอาเซียนตามนโยบายคมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทยและจะกลายเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค