HOTSPOT
แถลงข่าวจัดกิจกรรม “Keep Calm And Love Turtle #6” อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล คืนสู่ธรรมชาติ ครั้งที่ 6

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา โรงแรมในยาง บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา จับมือโรงแรมแน็ปป่าตอง โรงแรมพราว ภูเก็ต บริษัท ซีค ดีไซน์ จำกัด โรงเรียนในเครือขจรเกียรติ โรงแรมและพันธมิตร แถลงข่าวเตรียมจัดกิจกรรม “Keep Calm And Love Turtle #6” อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล คืนสู่ธรรมชาติ ครั้งที่ 6 เพื่อสืบสานตามแนวพระราชดำริใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในวันที่ 10 มีนาคม นี้ ภายใต้แนวคิด การเพิ่มและการให้

นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พ้อมด้วย ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน นายธเนศ ตันติพิระยะกิจ กรรมการบริหารโรงแรมในยาง บีช รีสอร์ท แอนด์สปา นายปัญญา วงศ์ทวีพิทยากุล ผู้จัดการโรงแรมเน็ปป่าตอง นายเพิ่มเกียรติ เดชกุล รองประธานโรงเรียนในเครือขจรเกียรติ นางพรทิพย์ โลห์แก้ว นายก สอรด.โรงแรมพราว ภูเก็ต นายคัมภีร์ มณีโลกย์ ผู้จัดการฝ่ายขายภาค 2 บริษัทหาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวเตรียมจัดกิจกรรม “Keep Calm and Love Turtle #6” อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล คืนสู่ธรรมชาติ (ปล่อยเต่ากลับบ้าน) ครั้งที่ 6 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม นี้ ณ ชายหาดในยาง จังหวัดภูเก็ต เพื่อร่วมกันอนุรักษ์เต่าทะเล ตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

โดยปีนี้ งานจัดขึ้นภายใต้แนวคิด การเพิ่ม และการให้ โดยการเพิ่มในที่นี้หมายถึง การเพิ่มจำนวนประชากรเต่าทะเลในธรรมชาติให้มากขึ้นผ่านทางการจัดกิจกรรมปล่อยเต่าตนุที่มีอายุตั้งแต่ 10-12 เดือน จำนวน 100 ตัว กลับคืนสู่ธรรมชาติบริเวณชายหาดในยาง ในเวลา 17.00 น ควบคู่กับการให้ความช่วยเหลือ เต่าที่ป่วย และพิการซึ่งถูกอนุบาลอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ด้วยบริจาคยา และสิ่งของที่จำเป็นให้แก่ทางศูนย์อนุบาล ตลอดจนกาให้ความช่วยเหลือสนับสนุนงบประมาณเพื่อขยายและเพิ่มพื้นที่สำหรับอนุบาลเต่าที่ป่วยและพิการให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดความแออัด และให้เต่าที่ป่วย และพิการได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยพบว่าปัจจุบันในจังหวัดภูเก็ตมีเต่าที่ป่วย และพิการซึ่งอยู่ในความดูแลของศูนย์อนุบาลมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากภัยคุกคามจากเครื่องมือประมง และขยะทะเล

นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า กิจกรรมอนุรักษ์เต่าทะเลคืนสู่ธรรมชาติครั้งนี้ ไม่เพียงจะช่วยกระตุ้นจิตสำนึกของคนให้หันมาใส่ใจต่อการร่วมกันอนุรักษ์เต่าทะเลมากขึ้นตามแนวราชดำริของสมเด็จพระนางสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิต แล้ว ยังเป็นการช่วยกันรณรงค์ให้ชุมชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวใส่ใจต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้เต่าทะเลได้กลับมาวางไข่ หลังพบว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชายหาดทางทิศตะวันตกทั่วเกาะภูเก็ต ไม่พบว่ามีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่อีกเลย

ขณะที่ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ระบุว่า ลูกเต่าที่ปล่อยคืนสู่ทะเลต้องมีอายุอย่างต่ำ 8 เดือนขึ้นไป เพราะเต่าจะสามารถเอาตัวรอดในธรรมชาติได้เอง นอกจากนี้ เต่าตนุทุกตัวจะถูกติดตั้งอินโคเนลเทคเอาไว้ ก่อนปล่อยลงสู่ทะเลทุกครั้ง ทั้งนี้ ผลจากการจัดกิจกรรมปล่อยเต่าคืนสู่ธรรมชาติในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีข้อมูลว่า ชาวประมงพบเห็นปะชากรเต่า และประสานกลับมายังศูนย์วิจัยตามข้อมูลที่มีการระบุไว้ในอินโคเนลเทค นับเป็นสิ่งบ่งชี้ที่ดีว่า ชุมชนเมเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เต่าทะเลเพิ่มมากขึ้น

ทั้่งนี้ ปัจจุบันจำนวนประชากรเต่าทะเลยังถือว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องด้วยหลายปัจจัย เช่น การถูกล่าเพื่อนำเนื้อ และไข่มาบริโภค การเติบโตขึ้นของชุมชนเมือง การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของชายหาด และแนวปะกัง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเต่าทะเล ทำให้เต่าทะเลที่จะเจริญเติบโตไปเป็นพ่อแม่พันธุ์ลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในประเทศไทยสถิติการวางไข่ของเต่าทะเลลดลงมากกว่า 5 เท่า จากเดิมเคยมีข้อมูลพบมากกว่า 2,500 รังต่อปี ปัจจุบันเหลือเพียง 300-400 รังต่อปี

สำหรับในส่วนของจังหวัดภูเก็ต ล่าสุด ไม่พบข้อมูลว่ามีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่อีกเลย โดยส่วนมากพบว่า เต่าตนุจะขึ้นไปวางไข่ที่เกาะสิมิลัน เนื่องจากมีความเงียบสงบ แต่อย่างไรในอดีต ชายหาดในยาง จังหวัดภูเก็ต เคยถูกพบว่าเป็นพื้นที่หนึ่งที่พบเห็นเต่าตนุขึ้นมาวางไข่เป็นจำนวนมาก โดยกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือกันของหลายภาคส่วน เช่น โรงแรมในยาง บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา โรงแรมแน็ปป่าตอง โรงแรมพราว ภูเก็ต บริษัทซีกดีไซด์ โรงเรียนขจรเกียรติ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน และศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเลทัพเรือภาคที่ 3