ฟังวิทยุออนไลน์ 24 ชั่วโมง

ท่าเรือแหลมฉบัง เดินหน้าเปิดเวที Market sounding

     เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.00 น. นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เพื่อให้รองรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟและเพิ่มระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อสร้างการรับรู้ ดึงดูดความสนใจ และรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนและผู้สนใจทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมี ร้อยตำรวจตรีมนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวรายงาน และมีตัวแทนหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธนาคาร กลุ่มนักลงทุน สมาคมการค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมงานจำนวนมาก ณ ห้องเมแฟร์ บอลรูม เอ-บี ชั้น 11 โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ

     ภายในงาน มีการสัมมนา “โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เพื่อให้รองรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟ และเพิ่มระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)” มีหัวข้อของนโยบายและแผนงานของ EEC โดย ผู้แทนจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) พร้อมทั้ง หัวข้อศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบัง โดยผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง หัวข้อรายละเอียดโครงการและความเป็นไปได้ของโครงการ โดยคณะที่ปรึกษาโครงการ จาก บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท โรแลนด์ เบอร์เกอร์ จำกัด และมีการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และตอบข้อซักถามของผู้เข้าร่วมงาน อีกด้วย

     สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย พ.ศ. 2558 - 2565 และเป็น 1 ใน 5 โครงการสำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ภายใต้วิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมขั้นสูงและเชื่อมต่อการค้าการพาณิชย์อย่างต่อเนื่องด้วยเครือข่ายคมนาคมขนส่งที่ครบวงจร ด้วยการนำระบบการขนส่งแบบอัตโนมัติ Automation และไร้รอยต่อเข้ามาบริหารจัดการ ควบคู่กับการใส่ใจสิ่งแวดล้อมพร้อมส่งเสริมศักยภาพการขนส่งทางน้ำของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการสู่ความสำเร็จ และมีพื้นที่รวมกว่า 1,600 ไร่ ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือตู้สินค้าจำนวน 4 ท่า ความยาวรวม 4,420 เมตร และลานกองเก็บตู้สินค้า แอ่งจอดเรือลึก 18.5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง สามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าประเภทตู้ได้ถึง 7  ล้าน TEU ต่อปี ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (Domestic) 1 ท่า มีขีดความสามารถรองรับตู้สินค้า 1 ล้านTEU ต่อปี และท่าเรือขนส่งรถยนต์ 1 ท่าสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าประเภทรถยนต์ได้ถึง 1 ล้านคันต่อปี รวมถึงสามารถรองรับการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟได้ 4 ล้าน TEU ต่อปีหรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของการขนส่งตู้สินค้าทั้งหมด

     เมื่อท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เปิดให้บริการ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าจาก 11.1 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18.1 ล้านตู้ต่อปี ขนส่งรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคันต่อปีเป็น 3 ล้านคันต่อปี สัดส่วนสินค้าผ่านท่าโดยรถไฟทั้งหมดของท่าเรือแหลมฉบังจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30 ลดต้นทุนค่าขนส่งรวมของประเทศ (Logistics Cost) จากร้อยละ 14 ของ GDP เหลือร้อยละ 12 ของ GDP ประหยัดเงินค่าขนส่งได้ถึง 250,000 ล้านบาท สามารถเชื่อมต่อการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ภายในพื้นที่ท่าเรือ สนับสนุนพื้นที่อุตสาหกรรมหลังท่าเรือที่เกิดขึ้นในพื้นที่EEC และประเทศไทยในการเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศแบบไร้รอยต่อ ทั้งทางด้านการขนส่งสินค้าแบบถ่ายลำเรือ(Transshipment) จากเรือขนสินค้าขนาดเล็ก (Feeder) ไปยังเรือแม่ขนาดใหญ่ หรือการเปลี่ยนการขนส่งสินค้าไปสู่ระบบราง ซึ่งเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ประเทศลาว เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา และประเทศจีนตอนใต้ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งและกระจายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค

 

แชร์ต่อให้เพื่อน
LATEST POSTS